อุปาทาน 4 อย่าง ของ อุปาทาน

  1. กามุปาทาน ยึดติดในกาม ซึ่งในที่นี้มิได้หมายความเพียงแค่เรื่องทางเพศ ซึ่งหมายถึงวัตถุกามคือ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกิเลสกามคือความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ทำให้หลงรัก หลงชอบ พอใจและอยากมีไว้ในครอบครองหรือเป็นเจ้าของ เช่น บ้าน รถ คอนโด ทรัพย์สินเงินทอง เครื่องประดับเพชรนิลจินดา หนุ่มหล่อ สาวสวย คนรวย คนมีอำนาจ คนดัง เป็นต้น
  2. ทิฏฐุปาทาน ยึดถือในทิฏฐิ คือ ความเห็นของตนว่าถูกต้อง ตรง จริง ของผู้อื่นผิด แม้ความเห็นนั้นจะถูกต้องจริงๆ ก็ยังจัดว่าเป็นอุปาทานด้วยเหมือนกัน
  3. สีลัพพัตตุปาทาน ติดยึดในศีลวัตรที่งมงาย ในที่นี้หมายถึง ข้อประพฤติปฏิบัติที่ไร้ประโยชน์ซึ่งเป็นการทรมานตนเปล่า ทำให้เสียเวลา ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นแต่กลับทำให้ยึดติดในวัตรปฏิบัติมากยิ่งขึ้น โดยคิดว่าเพียงแค่การถือพรตอันเคร่งครัดเพียงเท่านั้น จะสามารถนำมาซึ่งวิมุตติอันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริงในทางพุทธศาสนา
  4. อัตตวาทุปาทาน ยึดมั่นในความรู้สึกว่ามีตัวเอง เป็นของตัวเอง หรืออะไร ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นตัวตนในตัวเอง

พุทธภาษิตมีอยู่ว่า "เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว เบญจขันธ์ที่ประกอบอยู่ด้วยอุปาทานนั่นแหละเป็นตัวทุกข์"

ดังนั้น เบญจขันธ์ที่ไม่มีอุปาทานครอบงำนั้นหาเป็นทุกข์ไม่ ฉะนั้น คำว่าบริสุทธิ์หรือหลุดพ้นจึงหมายถึง การหลุดพ้นจากอุปาทานว่า"ตัวเรา" ว่า"ของเรา"นี้โดยตรง ดังมีพุทธภาษิตว่า "คนทั้งหลายย่อมหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน" เรียกง่าย ๆ ว่า ทุกข์ก็เป็นความคับข้อง ความไม่สะดวกสบายอันเป็นธรรมดาของทุกข์เอง แต่เราไม่ได้ทุกข์ด้วยเพราะเราไม่ได้ไปยึดมั่นเอามาวยอุปาทานเสียแล้วจึงเป็นเบญจขันธ์ธรรมดาที่ไม่ได้ทำให้เราเป็นทุกข์ไม่